สวัสดีครับ! นี่ก็ผ่านมา 2 สัปดาห์กันแล้ว หลังจากปล่อยเกม “Ib - อีฟ ปริศนาหอศิลป์พิศวง” เวอร์ชั่นแปลไทย ออกมาให้ดาวน์โหลดกัน ซึ่งหลาย ๆ คนก็คงจะได้เล่นกันไปแล้ว และมีบางคนที่เล่นจบไปรอบนึง หรือจบสมบูรณ์เก็บทุกฉากจบแล้วด้วย วันนี้ทางเราจึงมีบทความพิเศษ เกี่ยวกับจุดที่แตกต่างระหว่างเกมต้นฉบับหรือภาษาอังกฤษ กับเวอร์ชั่นแปลไทยนี้ รวมถึงยังเป็นไฮไลท์และเซอร์ไพรส์สำหรับคนที่เคยเล่นมาก่อนแล้วกลับมาเล่นใหม่ด้วย จะมีอะไรบ้างนั้นลองไปดูกันครับ

1. ภาษาไทย

แน่นอนว่าสิ่งแรกและเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่แตกต่างชัดเจน คือ ภาษาไทย นั่นเอง!! หลังจากที่หลายท่านได้เล่นแบบเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาอังกฤษกันไปแล้ว ซึ่งบางคนก็ติดกำแพงภาษา ไม่สามารถอ่านได้ หรืออ่านออกบ้างบางส่วน ทำให้ไม่เข้าใจเนื้อเรื่องหรือบทพูดของเกมทั้งหมด มาคราวนี้ตัวเกมเป็นภาษาไทยแล้ว ต้องขอขอบคุณท่าน Shiki ที่ช่วยเขียนโค้ดในโปรแกรม EasyRPG แล้วมอบให้กับเรามาก ๆ ครับ ถ้าไม่ได้เขาช่วยไว้ เกมนี้ก็คงจะไม่ได้แปลไทยไปอีกนานแสนนานเลยครับ ซึ่งภาษาไทยนี้ก็จะช่วยให้ทุกท่านเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดของเกมได้มากขึ้น แม้แต่รายละเอียดเล็กน้อย

นอกจากบทสนทนาแล้ว รูปภาพต่าง ๆ ก็ได้รับการแต่งใหม่ให้เป็นภาษาไทยด้วยเช่นกัน ทั้งคำอธิบายไอเทม ชื่อฉากจบ และข้อความที่อยู่บนแมพ เรียกว่าทุกท่านจะได้รับอรรถรสภาษาไทยกันเต็ม ๆ เลยแน่นอน

เพียงแต่ว่า ตัวฟอนต์ภาษาไทยนั้นค่อนข้างอ่านยาก เป็นเพราะข้อจำกัดทางด้านโปรแกรม EasyRPG และ RPG Maker 2000 ซึ่งเป็นรุ่นเก่ามาก ทำให้ยังไม่สามารถเปลี่ยนฟอนต์ได้ตามใจชอบ หรือแสดงผลฟอนต์ที่ดีกว่านี้ได้ แต่ในอนาคตอาจจะสามารถทำได้ก็ได้ครับ

**[คำเตือน : เนื่องจากโค้ดภาษาไทยได้รับการเขียนให้รองรับเฉพาะ PC ดังนั้นหากใช้ EasyRPG บนมือถือ จะทำให้ข้อความภาษาไทยไม่สมบูรณ์]

2. ภาพไตเติล หรือหน้าปกเกม

เรียกว่าเป็นอะไรที่เหนือความคาดหมาย และแปลกตาที่สุดเลยครับ เนื่องจากว่าทางผู้พัฒนาเกมดั้งเดิม คือ ท่าน kouri แนะนำให้ทางเราเปลี่ยนภาพไตเติลให้สอดคล้องกับชื่อของ “อีฟ/Ib” ที่เราใช้ในการแปล ซึ่งอาจจะทำให้ดูไม่คุ้นตากันสักหน่อย เพราะหลายคนคงเห็นโลโก้เกม “Ib” แบบดั้งเดิมกันจนชิน ทางเราเองก็ลองขอไม่เปลี่ยนภาพไปแล้ว แต่ทางเจ้าของเกมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เราจึงต้องเปลี่ยนครับ

และที่น่าแปลกใจกว่านั้นก็คือ เวอร์ชั่นแปลไทยของเราเป็นเพียงเวอร์ชั่นเดียวเท่านั้น จาก 7 เวอร์ชั่นแปล ที่เปลี่ยนภาพไตเติล ซึ่งบางส่วนอาจเป็นเพราะบางภาษาเลือกใช้คำว่า “Ib” โดยไม่แปลชื่อ หรือแปลไว้ แต่กำกับคำอ่านไว้ครั้งแรก แต่บางส่วนที่แปลก็ยังคงใช้ภาพเดิม ซึ่งเหตุผลที่เป็นเช่นนี้ ทางเราก็ไม่อาจทราบได้ แต่เรียกได้ว่าเวอร์ชั่นแปลไทยของเรามีความแปลกตาที่สุดก็คงไม่เกินจริงนัก แม้แต่เจ้าของเกมยังชมว่า オシャレですね。ซึ่งน่าจะแปลว่า Stylish หรือ มีสไตล์ เลยล่ะครับ!

3. สมุดภาพเคลื่อนไหว

เนื่องจากปัญหาของโปรแกรม EasyRPG ทำให้ไม่สามารถแสดงผลคลิปวิดีโอภายในตัวเกมได้ คลิปสมุดภาพจึงไม่สามารถเล่นได้ เราจึงต้องนำมันออกจากเกม เพื่อไม่ให้ข้อความ error ปรากฎขึ้นในเกมแล้วทำให้เสียอรรถรส นอกจากนี้ทางเรายังต้องหาวิธีดัดแปลงเนื้อหาในรูปแบบใหม่ลงไปแทน เพื่อคงอารมณ์ตอนเล่นเอาไว้ให้มากที่สุด จึงได้ตัดสินใจเขียนเล่าเป็นข้อความแทน และปรับจังหวะของการเล่าเรื่องให้สอดคล้องกับการแก้ปริศนา อาจจะไม่ดีเท่ากับการดูวิดีโอ แต่ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดูแล้วน่าจะเหมาะสมที่สุด อีกทั้งยังถือว่าพอจะเปลี่ยนบรรยากาศให้หลอนไปอีกแบบได้เหมือนกัน

ทั้งนี้ตัวคลิปวิดีโอสามารถเปิดดูแยกกันได้ในโฟลเดอร์ Data/Movie นะครับ ทางทีมงานก็ได้ทำซับไทยเอาไว้ด้วย

4. การแก้ปริศนาด้วยการพิมพ์ตัวอักษร

นี่อาจจะเป็นเซอร์ไพรส์ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้เล่นเก่าที่เคยเล่นหรือดูเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษมาก่อนแล้วเลยทีเดียว เนื่องจากในตัวเกมภาษาอังกฤษมีการแก้ไขปริศนาด้วยวิธีนี้เพียงแค่ ครั้งเดียวเท่านั้น แต่เกมเวอร์ชั่นแปลไทยนี้จะมีให้พิมพ์ตัวอักษรเพื่อไขปริศนาถึง 3 ครั้งกันเลย! ซึ่งหลายท่านอาจจะคิดว่าเราทำการดัดแปลงการแก้ปริศนาจากเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการเซอร์ไพรส์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเช่นนั้น หากแต่ว่าการพิมพ์ตัวอักษรเช่นนี้มีมาตั้งแต่เวอร์ชั่นต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นแล้ว! แต่หลายท่านไม่ทราบเรื่องนี้เพราะไม่เคยเห็นเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่น หรือเคยคิดว่าต้นฉบับของเกมนี้ คือ ภาษาอังกฤษ แต่แท้จริงแล้วเวอร์ชั่นแปลภาษาอังกฤษต่างหาก ที่ดัดแปลงการแก้ไขปริศนา จากเวอร์ชั่นญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ให้พิมพ์ข้อความแก้ปริศนา เป็นการเลือกตอบตัวเลือกแทน!!

แต่ผู้แปลเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ดัดแปลงตามใจชอบ ที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะช่วงที่โปรแกรม RPG Maker 2000 ออกมาใหม่ ๆ ยังไม่รองรับการพิมพ์ตัวอักษรภาษาอังกฤษบนหน้าต่างพิมพ์ข้อความ เธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการแก้ปริศนาเพื่อให้ตัวเกมดำเนินไปต่อได้ ก็หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจกันใหม่แล้วนะครับ ว่าจริง ๆ แล้ว ทางเราที่ซึ่งใช้เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษเป็นฐานในการแปล แค่เปลี่ยนการแก้ไขปริศนาที่ได้รับการดัดแปลงมา ให้กลับไปเป็นดังเดิมเหมือนเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่ได้คิดการแก้ปริศนารูปแบบนี้ขึ้นมาเอง

**[คำเตือน : เนื่องจากโค้ดภาษาไทยได้รับการเขียนให้รองรับเฉพาะ PC ดังนั้นหากใช้ EasyRPG บนมือถือ จะไม่รองรับหน้าต่างพิมพ์ข้อความภาษาไทย และกลายเป็นภาษาอังกฤษแทน จึงทำให้จบเกมไม่ได้]

5. โปรแกรม Launcher เปิดเกม

เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของเวอร์ชั่นแปลไทยอีกอย่างหนึ่งที่แม้แต่แอดมินเองก็ไม่ได้วางแผนไว้ก่อน และคาดไม่ถึงว่าจะทำออกมาได้สำเร็จ นั่นคือวิธีการเปิดเกมแบบใหม่ ด้วยการเปิดผ่าน Launcher.exe ซึ่งหากจำไม่ผิด ไม่มีเวอร์ชั่นใดที่ทำแบบนี้ อาจจะมีเวอร์ชั่นภาษาจีนที่คล้ายคลึงกัน แต่เป็นการแตกไฟล์และติดตั้งโฟลเดอร์ออกมาใหม่เพียงเท่านั้น แต่เวอร์ชั่นแปลไทยของเรา จะเป็นการเรียกเปิดโปรแกรมขึ้นมา พร้อมรูปประกอบอันสวยงาม เหตุทีีทำเช่นนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เล่นเปิดผิดโปรแกรม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแสดงผลภาษาที่เพี้ยนไป และโค้ดดั้งเดิมก่อนจะเป็น Launcher นั้น เคยเป็นไฟล์ bat มาก่อน ซึ่งทางเราไม่ทราบวิธีเปลี่ยนไอคอน จึงใช้โปรแกรมแปลงเป็นไฟล์ exe แทน แต่เว็บฝากไฟล์กับโปรแกรมแอนตี้ไวรัสนั้นทำการบล็อกไฟล์ เพราะคิดว่าโปรแกรมแปลงไฟล์นั้นอันตราย ทางเราจึงเปลี่ยนไปทำ Launcher แทน

นอกจากนี้ เหตุผลที่ใหญ่ที่สุด ก็คือ ระบบอัปเดตไฟล์จากเซิร์ฟเวอร์ นั่นหมายความว่า เราสามารถอัปโหลดเพียงไฟล์ Launcher ซึ่งมีขนาดประมาณ 1 MB เท่านั้น ให้ท่านดาวน์โหลดผ่านเว็บฝากไฟล์ และจะมีระบบดาวน์โหลดไฟล์ที่เหลือขึ้นมาอีกครั้งเมื่อกดเล่นเกม ซึ่งจุดสำคัญจริง ๆ คือการปล่อยแพทช์แก้บั๊กในอนาคต ด้วยฟังก์ชั่นนี้ ทางเราไม่จำเป็นต้องอัปโหลดไฟล์ใหม่ลงเว็บฝากไฟล์ใด ๆ ทุกครั้งที่มีการแก้บั๊กอีกแล้ว รวมถึงไม่จำเป็นต้องส่งลิงค์โหลดแพทช์ใด ๆ ให้แก่ผู้เล่น เพราะระบบจะอัปเดตเฉพาะส่วนที่แก้ไขบั๊กให้ผ่านทาง Launcher เมื่อกดเล่นเกม ซึ่งเป็นระบบที่ล้ำยุคและสะดวกสบายต่อการแก้บั๊กอย่างมาก นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีปุ่ม “แก้ไขปัญหาเข้าเกมไม่ได้” ที่จะช่วยบอกวิธีแก้ไขปัญหาเมื่อเล่นเกมไม่ได้ และปุ่ม “info” ซึ่งจะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเกม, ผู้พัฒนาเกม, ข้อควรทราบ และทีมงานหลักของเกมแปลชิ้นนี้

ซึ่งต้องขอขอบคุณท่าน Neko_paldee และ Opheliaz ซึ่งเป็นผู้เขียนโค้ดและออกแบบ Launcher นี้ ที่ทำให้ระบบนี้เป็นจริงได้ รวมทั้งต้องขอบคุณผู้มีส่วนร่วมเสริมในด้านรูปประกอบและอื่น ๆ เช่นกัน

6. โทนของดนตรี

เป็นบั๊กอันร้ายแรงของโปรแกรม EasyRPG อีกอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ หลายท่านอาจจะสังเกตได้ว่าดนตรีบางช่วงของเกมมีโทนและจังหวะที่ดูแตกต่างไปจากเดิม อาจจะโทนแหลมหรือทุ้มกว่าปกติ หรือไม่ก็จังหวะเร็วหรือช้ากว่าที่เคยได้ยินมา ทั้งนี้เป็นเพราะว่าโปรแกรม EasyRPG ไม่รองรับการเปลี่ยน Pitch ของดนตรีครับ ซึ่งในตัวเกมเวอร์ชั่นต้นฉบับนั้นและภาษาอื่นจะมีการปรับ Pitch ของดนตรีบางส่วน ไม่ว่าจะเป็น BGM (ดนตรีประกอบ) หรือ SE (ซาวด์เอฟเฟ็กต์/เสียงประกอบ) เพื่อให้เข้ากับตัวเกม ดังนั้นในเวอร์ชั่นแปลไทยจะมีเสียงดนตรีที่แตกต่างไปจากเดิมอยู่บ้าง ซึ่งมองในแง่ดีก็ช่วยสร้างความแปลกใหม่ให้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากทาง EasyRPG สามารถแก้ไขบั๊กนี้ได้แล้ว ทางเราจะรีบทำการอัปเดตแพทช์ตัวใหม่แก้ไขให้ทันทีครับ

ส่งท้าย

หลัก ๆ ก็คงมีเพียงเท่านี้ครับ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้เล่นทุกท่านได้เข้าใจถึงจุดที่เวอร์ชั่นแปลไทยแตกต่างจากเวอร์ชั่นอื่น ๆ มากขึ้นนะครับ และแอบหวังว่าอาจจะช่วยให้บางท่านที่เคยเล่นเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษจบไปแล้ว อยากลองกลับมาเล่นใหม่ในเวอร์ชั่นภาษาไทยได้บ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ หากสนใจก็สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ : Facebook , wez.in.th